วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

การประเมินผลการเรียนรู้

 http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htm  ได้รวบรวมการประเมินผลไว้ดังนี้
การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง การนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการวัดรวมกับการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ เพื่อให้ได้ผลเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เนื้อหมูชิ้นนี้หนัก 0.5 กิโลกรัมเป็นเนื้อหมูชิ้นที่เบาที่สุดในร้าน (เปรียบเทียบกันภายในกลุ่ม) เด็กชายแดงได้คะแนนวิชาภาษาไทย 42 คะแนนซึ่งไม่ถึง 50 คะแนนถือว่าสอบไม่ผ่าน (ใช้เกณฑ์ที่ครูสร้างขึ้น) เป็นต้น
การประเมินผลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท การประเมินแบบอิงกลุ่มและการประเมินแบบอิงเกณฑ์
1. การประเมินแบบอิงกลุ่ม เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ทำแบบทดสอบเดียวกันหรือได้ทำงานอย่างเดียวกัน นั่นคือเป็นการใช้เพื่อจำแนกหรือจัดลำดับบุคคลในกลุ่ม การประเมินแบบนี้มักใช้กับการ การประเมินเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ หรือการสอบชิงทุนต่าง ๆ
2. การประเมินแบบอิงเกณฑ์ เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับเกณฑ์หรือจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ เช่น การประเมินระหว่างการเรียนการสอนว่าผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่
ข้อแตกต่างระหว่างการประเมินผลแบบอิงกลุ่มและอิงเกณฑ์
การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม
1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับคะแนนของคนอื่น ๆ
2. นิยมใช้ในการสอบแข่งขัน
3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของร้อยละหรือคะแนนมาตรฐาน
4. ใช้แบบทดสอบเดียวกันทำหรับผู้เรียนทั้งกลุ่มหรืออาจใช้แบบทดสอบคู่ขนาน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้
5. แบบทดสอบมีความยากง่ายพอเหมาะ มีอำนาจจำแนกสูง
6. เน้นความเที่ยงตรงทุกชนิด
การประเมินแบบอิงเกณฑ์
1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
2. สำหรับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนหรือเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน
3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของผ่าน-ไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4. ไม่ได้เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบฉบับเดียวกันกับผู้เรียนทั้งชั้น
5. ไม่เน้นความยากง่าย แต่อำนาจจำแนกควรมีพอเหมาะ
6. เน้นความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา


 https://www.gotoknow.org/posts/181202  ได้รวบรวมการวัดและการประเมินผลไว้ดังนี้
 ความหมายของการวัดผล (measurement)
การวัดผล หมายถึง กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลข หรือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะ หรือคุณภาพของสิ่งที่วัด โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหารายละเอียดสิ่งที่วัดว่ามีจำนวนหรือปริมาณเท่าใด เช่น การวัดส่วนสูงของเด็กเป็นการแปลงคุณลักษณะด้านความสูงออกมาเป็นตัวเลขว่าสูงกี่เซนติเมตรหรือนักเรียนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 20 คะแนน ก็เป็นการแปลงคุณภาพด้านความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นตัวเลข โดยใช้แบบทดสอบ เป็นต้น
ความหมายของการประเมินผล (evaluation)
การประเมินผล หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
                ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
                การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด
เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด จุดมุ่งหมายในข้อนี้
ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล (evaluation) เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

http://www.c4ed.kmutt.ac.th/?q=node/144 ได้รวบรวมการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ไว้ดังนี้
ช่วงศตวรรษที่ 20 การวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่คะแนนจากแบบทดสอบที่อิงบรรทัดฐานตามสถานศึกษาที่เน้นเพียงด้านความรู้ หากนำมาใช้กับโมเดลการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ซึ่งได้แก่ ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญที่ผู้เรียนต้องมีเพื่อความสำเร็จในการทำงานและการดำรงชีวิต โดยมีลักษณะการบูรณาการทั้งคุณธรรมและความรู้ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาผู้เรียนด้านสมองและจิตใจต้องควบคู่กันไปโดยไม่แยกส่วน คงไม่สามารถนำมาวัดได้อย่างครอบคลุม โดย แนวโน้มของการประเมินผลในศตวรรษที่ 21 จะอยู่บนพื้นฐานของการประเมินพหุมิติ เช่น ด้านความรู้ ด้านความรู้สึก และทักษะการปฏิบัติทุกด้าน ซึ่งในการประเมินสามารถประเมินระหว่างเรียนและประเมินสรุปรวม โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการประเมิน
2. พิจารณาขอบเขต เกณฑ์ วิธีการ และสิ่งที่จะประเมิน เช่น ประเมินพัฒนาการทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพ ทักษะการทำงานเป็นทีม ขอบเขตที่จะประเมิน เช่น ด้านความรู้ ทักษะ ความรู้สึกและคุณลักษณะ
3. กำหนดองค์ประกอบและผู้ประเมินว่ามีใครบ้างที่จะประเมิน เช่น ผู้เรียน อาจารย์ประเมินทักษะการทำงานเป็นทีม
4. เลือกใช้เทคนิคและเครื่องมือในการประเมินที่มีความหลากหลายเหมาะกับวัตถุประสงค์และเกณฑ์การประเมิน เช่น การทดสอบ การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม เป็นต้น
5. กำหนดเวลาและสถานที่ที่จะประเมิน เช่น ประเมินระหว่างการทำกิจกรรม ระหว่างการทำงานกลุ่มและโครงการ วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เหตุการณ์ เป็นต้น
6. วิเคราะห์ผลและการจัดการข้อมูลการประเมิน โดยนำเสนอรายการกระบวนการ แฟ้มสะสมผลงาน การบันทึกข้อมูล ผลการสอบ
       เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินนั้นมีหลากหลายขึ้นกับความเหมาะสมกับสถานการณ์และสามารถประเมินความรู้ ความสามารถของผู้เรียนได้ตามความสามารถจริงโดยมีตัวอย่างดังนี้
การสังเกต (Observationเป็นกระบวนการที่ผู้สังเกตทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการบันทึกพฤติกรรมหรือกลุ่มหรือการกฎการณ์ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษาโดยอาศัยประสาทสัมผัสของผู้สังเกตเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้หรือข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษา นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้ยังขึ้นอยู่กับการรับรู้ ทัศนคติตลอดจนประสบการณ์ของผู้สังเกตด้วย ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการสังเกตจะถูกต้องเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดจึงขึ้นอยู่กับตัวผู้สังเกตเป็นสำคัญ
การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นเทคนิควิธีการรวบรวมข้อมูลแบบหนึ่งสำหรับใช้ในการประเมิน ทางการศึกษาที่อาศัยการเก็บข้อมูลโดยมีผู้สัมภาษณ์เป็นผู้ถามและจดบันทึกคำตอบ และมีผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นผู้ให้ข้อมูล รายการคำถามหรือชุดคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ใช้ถามจะเรียกว่า “แบบสัมภาษณ์” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลสำหรับการวัดผลการประเมินผลและการวิจัย
แบบสอบถาม (Questionair) เป็นชุดของข้อคำถามหรือข้อความที่สร้างและจัดเรียงลำดับไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความเชื่อ และความสนใจต่างๆ
แบบทดสอบวัดความสามารถจริง (Authentic Test) เป็นลักษณะคำถามปลายเปิดเน้นให้ผู้เรียนตอบข้อคำถามในลักษณะการนำความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์เดิมจากสถานการณ์จำลองหรือคล้ายคลึงกัน โดยมีระดับของสภาพจริงในชีวิต บูรณาการความรู้ความสามารถหลายด้าน มีคำตอบถูกหลายคำตอบ
บันทึกของผู้เรียน (Learning log) ผู้เรียนพูดหรือเขียนบรรยายสะท้อนความรู้ ความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ วิธีการทำงาน และคุณลักษณะของผลงาน - การตรวจผลงาน เป็นวิธีการที่สามารถนำผลประเมินไปใช้ทันที และควรดำเนินการตลอดเวลาเพื่อการช่วยเหลือผู้เรียน และเพื่อปรับปรุงการสอนของอาจารย์
แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolioเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้เรียน ผลงาน การปฏิบัติซึ่งในการรวบรวมควรใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้าน และมีจำนวนมากพอที่จะใช้ในการประเมินผลผู้เรียน
แบบสำรวจรายการ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้รวดเร็วกว่าการบันทึกพฤติกรรม ซึ่งการบันทึกแบบตั้งใจที่จะดูพฤติกรรมหรือการเรียนรู้ว่าเกิดหรือไม่



สรุป

การประเมินผลหมายถึงการนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการวัดรวมกับการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก มี 2 ประเภท คือ การประเมินแบบอิงกลุ่มและการประเมินแบบอิงเกณฑ์ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการประเมิน
2. พิจารณาขอบเขต เกณฑ์ วิธีการ และสิ่งที่จะประเมิน เช่น ประเมินพัฒนาการทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพ ทักษะการทำงานเป็นทีม ขอบเขตที่จะประเมิน เช่น ด้านความรู้ ทักษะ ความรู้สึกและคุณลักษณะ
3. กำหนดองค์ประกอบและผู้ประเมินว่ามีใครบ้างที่จะประเมิน เช่น ผู้เรียน อาจารย์ประเมินทักษะการทำงานเป็นทีม
4. เลือกใช้เทคนิคและเครื่องมือในการประเมินที่มีความหลากหลายเหมาะกับวัตถุประสงค์และเกณฑ์การประเมิน เช่น การทดสอบ การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม เป็นต้น
5. กำหนดเวลาและสถานที่ที่จะประเมิน เช่น ประเมินระหว่างการทำกิจกรรม ระหว่างการทำงานกลุ่มและโครงการ วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เหตุการณ์ เป็นต้น
6. วิเคราะห์ผลและการจัดการข้อมูลการประเมิน โดยนำเสนอรายการกระบวนการ แฟ้มสะสมผลงาน การบันทึกข้อมูล ผลการสอบ
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน
การสังเกต (Observation)
การสัมภาษณ์ (Interview)
แบบสอบถาม (Questionair)
แบบทดสอบวัดความสามารถจริง (Authentic Test)
บันทึกของผู้เรียน (Learning log)
แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
จุดมุ่งหมาย
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement)
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment)
            5. เพื่อพยากรณ์ (prediction)
6. เพื่อประเมินผล (evaluation)



ที่มา
http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htm. การวัดและการประเมินผล. เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2558.
            https://www.gotoknow.org/posts/181202. การประเมินผล. เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2558.
http://www.c4ed.kmutt.ac.th/?q=node/144. การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน. เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2558.






การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1_2.htm ได้กล่าวถึงแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จากข้อมูลนโยบายเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นำมาสู่การทำความเข้าใจเรื่องหลักการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไว้ดังนี้
          แนวคิดจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกล่าวถึงการจัดการเรียนรู้ ที่ยอมรับว่าบุคคลหรือผู้เรียนมีความแตกต่างกัน และทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูหรือผู้จัดการเรียนรู้ควรมีความเชื่อพื้นฐานอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. เชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน
2. เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
3. เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา
          ดังนั้น การจัดการเรียนรู้จึงเป็นการจัดการบรรยากาศ จัดกิจกรรม จัดสื่อ จัดสถานการณ์ ฯลฯ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ ครูจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักผู้เรียนครอบคลุมอย่างรอบด้าน และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปเป็นพื้นฐานการออกแบบหรือวางแผนการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับผู้เรียน สำหรับในการจัดกิจกรรมหรือออกแบบการเรียนรู้ อาจทำได้หลายวิธีการและหลายเทคนิค แต่มีข้อควรคำนึงว่า ในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละเรื่อง ได้เปิดโอกาสให้กับผู้เรียนในเรื่องต่อไปนี้หรือไม่
1.  เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจในเนื้อหาสาระที่สนใจ เป็นประโยชน์ต่อตัว ผู้เรียนหรือไม่
2.  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ โดยได้คิด ได้รวบรวมความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองหรือไม่ ซึ่ง ทิศนา แขมมณี (2543) ได้นำเสนอแนวคิดในการเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้
               2.1.   กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีที่ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย (physical participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัว พร้อมที่จะรับข้อมูลและการเรียนรู้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น การรับรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม แม้จะมีการให้ความรู้ที่ดีๆ ผู้เรียนก็ไม่สามารถรับได้ ดังจะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยให้ผู้เรียนนั่งนานๆ ในไม่ช้าผู้เรียนก็จะหลับหรือคิดเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าให้มีการเคลื่อนไหวทางกายบ้างก็จะทำให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัวและพร้อมที่จะรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี ดังนั้น กิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียน จึงควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมกับวัยและระดับความสนใจของผู้เรียน
      2.2. กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางสติปัญญา (intellectual participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเคลื่อนไหวทางสติปัญญา ต้องเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความคิดของผู้เรียน สามารถกระตุ้นสมองของผู้เรียนให้เกิดการเคลื่อนไหว ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากหรือง่ายเกินไปทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกที่จะคิด
      2. 3. กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม (social participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อมต่างๆ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านสังคม
      2.4. กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางอารมณ์ (emotional participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้นั้นเกิดความหมายต่อตนเองโดยกิจกรรมดังกล่าวควรเกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยตรง โดยปกติการมีส่วนร่วมทางอารมณ์นี้มักเกิดขึ้นพร้อมกับการกระทำอื่นๆอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมทางกาย สติปัญญา และสังคม ทุกครั้งที่ครูให้ผู้เรียนเคลื่อนที่ เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนกิจกรรม ผู้เรียนจะเกิดอารมณ์ ความรู้สึกตามมาด้วยเสมอ อาจเป็นความพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉย ๆ
                   การระบุองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อช่วยผู้เรียนได้แสดงบทบาทต่างๆ อันเป็นการแสดงความสำคัญของผู้เรียน เป็นตัวอักษรย่อ “CIPPA” นี้เพื่อให้ง่ายที่จะจำและนำไปใช้เป็นหลักในการปฏิบัติได้โดยสะดวก การจัดการเรียนการสอนทั่วไป ครูสามารถออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ตามแนวทาง ต่อไปนี้
1.   การจัดกิจกรรมเอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างความรู้ (Construct) จากความคิดพื้นฐานที่เชื่อว่า ในสมองของผู้เรียนมิได้มีแต่ความว่างเปล่า แต่ทุกคนมีประสบการณ์เดิมของตนเอง เมื่อได้รับประสบการณ์ใหม่ สมองจะพยายามปรับข้อมูลเดิมที่มีอยู่โดยการต่อเติมเข้าไปในกรณีที่ข้อมูลเดิมและข้อมูลใหม่ไม่มีความขัดแย้งกัน แต่ถ้าขัดแย้งกันก็จะปรับโครงสร้างของข้อมูลเดิม เพื่อให้สามารถรับข้อมูลใหม่ได้ ซึ่งอาจทำให้โครงสร้างของข้อมูลเดิมเปลี่ยนแปลงไป และถ้าผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงความรู้ที่สร้างได้นั้นออกมาด้วยคำพูดของตนเอง การสร้างความรู้นั้นก็จะสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าครูสามารถออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำตามแนวความคิดนี้ ผู้เรียนก็จะสามารถสร้างความรู้ได้ พฤติกรรมที่ครูควรออกแบบในกิจกรรมการเรียนของผู้เรียน มีดังนี้
      1.1  ให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้เดิม
      1.2  ให้ผู้เรียนได้รับ /แสวงหา/รวบรวมข้อมูล/ประสบการณ์ต่างๆ
      1.3 ให้ผู้เรียนได้ศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจ และสร้างความหมายข้อมูล/ประสบการณ์ต่างๆ โดยใช้กระบวนการคิดและกระบวนการอื่นๆที่จำเป็น
      1.4  ให้ผู้เรียนได้สรุปจัดระเบียบ/โครงสร้างความรู้
      1.5  ให้ผู้เรียนได้แสดงออกในสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ
ในกิจกรรมการเรียนการสอนทั่วไป ครูสามารถออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องตามลำดับขั้นตอนต่างๆในขณะที่ให้ความรู้ โดยเปลี่ยนบทบาทจากที่เคยบอกความรู้โดยตรง ให้ผู้เรียนบันทึกหรือคัดลอกเป็นการใช้คำสั่งและคำถามดำเนินกิจกรรม ให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำเพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยครูเตรียมสื่อการสอนที่เป็นตัวอย่างเครื่องมือหรือการปฏิบัติงานในลักษณะต่างๆ เป็นข้อมูลหรือประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เข้าใจ ครูอาจชี้แนะข้อมูลที่ควรสังเกตและวิธีการจัดระบบระเบียบโครงสร้างความรู้ให้ เช่น สอนให้เขียนโครงสร้างความรู้เป็นแผนผังที่ตนเองเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกว่า ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เรื่องใด เช่น ให้อธิบายแผนผังความคิดที่ตนเองเขียนขึ้นตามความเข้าใจ หรือให้เล่าถึงสิ่งที่เรียนรู้โดยครูใช้คำถามหรือคำสั่งเป็นสื่อ และมีการเสริมแรงอย่างเหมาะสมในภายหลังก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความสนุก และต้องการเรียนรู้อีก
2.   การจัดกิจกรรมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) คือ การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้กระทำสิ่งต่างๆ หรือการกระทำบางสิ่งบางอย่าง ดังต่อไปนี้
      2.1 ให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ได้แก่ การพูดอภิปรายกับเพื่อน กับครู หรือผู้เกี่ยวข้องกับการทำงาน ผู้ที่สามารถให้ข้อมูลบางอย่างที่ผู้เรียนต้องการได้
      2.2 ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น กำหนดให้ผู้เรียนสำรวจอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณโรงเรียน
      2.3  ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น กำหนดให้ผู้เรียนสังเกต
การกินอาหารของสัตว์หรือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของต้นไม้ชนิดต่างๆ
2.4 ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านสื่อโสตทัศน์ วัสดุ และเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ให้ผู้เรียนไปหาข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ หรือให้อ่านใบความรู้ ใบงาน หรือใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในการเรียน
3.   การจัดกิจกรรมที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวร่างกาย (Physical Participation) คือ การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวอวัยวะหรือกล้ามเนื้อต่างๆ เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ และความสนใจของผู้เรียน โดยกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวอาจเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
      3.1 กล้ามเนื้อมัดย่อย เช่น การพิมพ์ดีด ร้อยมาลัย พับกระดาษ วาดรูป เย็บผ้า ใช้ไขควง เขียนแบบ เรียงตัวหนังสือ ปฏิบัติการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์
      3.2 กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น กิจกรรมย้ายกลุ่ม ย้ายเก้าอี้ จัดโต๊ะ ทุบโลหะ ตอกตะปู ยกของ ก่ออิฐ ฉาบปูน ขุดดิน ฯลฯ
4.   การจัดกิจกรรมที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการ (Process Learning) คือ การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการกลุ่ม กระบวนการศึกษาด้วยตนเอง การะบวนการจัดการ กระบวนการแก้ปัญหาและตัดสินใจ กระบวนการทำงาน กระบวนการอื่นๆ โดยครูจัดกิจกรรม สถานการณ์ หรือกำหนดให้ผู้เรียนหาข้อมูลหรือความรู้โดยใช้กระบวนการดังกล่าวเป็นเครื่องมือ ผลของการเรียนรู้ นอกจากผู้เรียนจะได้รับรู้ข้อมูลที่ต้องการแล้วยังมีความรู้เกี่ยวกับการใช้กระบวนการเหล่านี้ เพื่อหาข้อมูลหรือความรู้อื่นๆ ได้ด้วยตนเองในโอกาสอื่นๆ  เปรียบเหมือนการให้เครื่องมือในการจับปลากับชาวประมงแทนที่จะเอาปลามาให้ เมื่อชาวประมงมีเครื่องมือจับปลาแล้วย่อมหาปลามากินเองได้ หรือวางแผนจัดสรรเวลาของการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือได้ลงมือแก้ไขงานบางอย่างในขณะลงมือปฏิบัติงาน ซึ่งต้องใช้การพิจารณาข้อมูลรอบด้านเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ข้อสำคัญคือ ครูจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้สรุปขั้นตอนในการทำงาน ผู้เรียนต้องบอกได้ว่า การทำงานนี้เสร็จได้ เขาใช้ขั้นตอนและวิธีการใดบ้าง แต่ละขั้นตอนมีปัญหาและอุปสรรคใด เขาใช้วิธีการใดแก้ปัญหา และได้ผลของการปฏิบัติออกมาอย่างไร พอใจหรือไม่ ถ้ามีการทำงานอย่างนี้อีกในครั้งต่อไปเขาจะปฏิบัติอย่างไร อีกประเด็นหนึ่งคือ การใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงาน ต้องแบ่งหน้าที่การทำงาน สมาชิกทุกคนต้องมีส่วนร่วมทำให้งานชิ้นนั้นสำเร็จ มิใช่ให้ผู้เรียนมานั่งรวมกลุ่มกันแต่ทำงานแบบต่างคนต่างทำ เพราะผู้เรียนจะได้มีโอกาสรู้บทบาทของตนเองในการทำงานร่วมกับคนอื่น ตลอดจนรู้วิธีการจัดระบบระเบียบการทำงานในกลุ่มเพื่อให้งานกลุ่มบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป ก็จะสามารถใช้กระบวนการกลุ่มนี้ในการทำงานกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่ผู้เรียนเป็นสมาชิกอยู่ได้
5.   การจัดกิจกรรมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการประยุกต์ใช้ความรู้ (Application) คือ การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้กระทำสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
      5.1  ได้นำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆที่หลากหลาย หรือ
      5.2  ได้ฝึกฝนพฤติกรรมการเรียนรู้จนเกิดความชำนาญ
โดยครูจัดสถานการณ์ แบบฝึกหัด หรือโจทย์ปัญหาให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความชำนาญในการที่จะนำเอาความรู้นั้นมาใช้เป็นประจำในชีวิตจริง
การจัดกิจกรรมในขั้นตอนนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญแต่กลับเป็นจุดอ่อนของการจัดการเรียนการสอนของไทยทุกระดับ เพราะมีการปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมการนำความรู้ ความเข้าใจที่ได้รับจากการเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากในการเรียนการสอนผู้เรียนยังขาดการฝึกฝนการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
          การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามแนวคิดที่กล่าวถึงข้างต้น สามารถใช้ได้กับการจัดการเรียนการสอนทุกวิชาและทุกระดับชั้น เพียงแต่ธรรมชาติของเนื้อหาวิชาที่ต่างกันจะมีลักษณะที่เอื้ออำนวยให้ครูออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในจุดเด่นที่ต่างกัน คือ
                   1. รายวิชาที่มีเนื้อหามุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้กฎเกณฑ์และการนำเอากฎเกณฑ์ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ หรือการใช้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ครูสามารถใช้กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองโดยใช้วิธีสอนแบบอุปนัย และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำกฎเกณฑ์ที่ทำความเข้าใจได้ไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยใช้วิธีการสอนแบบนิรนัย การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืน เพราะผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตัวเอง
                   2. รายวิชาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบความรู้จากการค้นคว้าทดลอง และการอภิปรายโดยใช้หลักเหตุผล เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนมีโอกาสที่จะได้สร้างความรู้เองโดยตรง เพียงแต่ครูต้องรู้จักการใช้คำถามที่ยั่วยุและเชื่อมโยงความคิด ประกอบกับการได้มีโอกาสทำการทดลอง เป็นการปฏิบัติร่วมกัน ผู้เรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กัน มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อสร้างความรู้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ทำกันมาอยู่แล้ว
                   3. รายวิชาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุให้ออกความคิดเห็นได้ เช่น วิชาสังคมศึกษา และวรรณคดีเป็นลักษณะพิเศษที่ครูจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดกิจกรรมการใช้ความคิด อภิปราย นำไปสู่ข้อสรุป เป็นผลของการเรียนรู้และการสร้างนิสัยยอมรับฟังความคิดเห็นกัน เป็นวิถีทางที่ดีในการปลูกฝังประชาธิปไตยให้กับผู้เรียน
                   4. รายวิชาที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นหลัก เช่น วิชาพลศึกษาและการงานอาชีพ ครูควรใช้โอกาสดังกล่าว ให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ผ่านกระบวนการทำงาน
                   5. รายวิชาที่ส่งเสริมความคิดจินตนาการ และการสร้างสุนทรียภาพ เช่น วิชาศิลปะและดนตรี นอกจากจะมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ผู้เรียนยังมีโอกาสได้สร้างความรู้ และความรู้สึกที่ดี ผ่านกระบวนทำงานที่ครูออกแบบไว้ให้
          ครูที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มักเป็นครูที่มีความตั้งใจและสนุกในการทำงานสอน เป็นคนช่างสังเกตและเอาใจใส่ผู้เรียน และมักจะได้ผลการตอบสนองที่ดีจาก
ผู้เรียน แม้จะยังไม่มากในจุดเริ่มต้น แต่เมื่อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนในทางที่ดีขึ้น ในประเด็นของการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะได้กล่าวถึงเทคนิคต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อครู ในตอนต่อไป
แต่เดิมแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเป็นการยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง (Techer-centered) โดยผู้สอนเป็นผู้กำหนดเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการบรรยายหน้าชั้นเรียนเท่านั้น ต่อมานักการศึกษาเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เอื้อต่อเกิดการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่วิธีการที่ตอบสนองต่อความต้องการหรือลักษณะของผู้เรียน การศึกษาควรให้ความสำคัญกับ “การเรียน” มากกว่า “การสอน

http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126 ได้กล่าวถึงแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered, Student-centred หรือ Child-centered) จึงเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนมายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไว้ดังนี้  โดยมีหลักการว่า
กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคมและการประยุกต์ใช้ มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา
1.  Active Learning เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองด้วยความกระตือรือร้น เช่น ได้คิด ค้นคว้า ทดลองรายงาน ทำโครงการ สัมภาษณ์ แก้ปัญหา ฯลฯ ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ผู้สอนทำหน้าที่เตรียมการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ จัดสื่อสิ่งเร้าเสริมแรงให้คำปรึกษาและสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกัน
2. Construct เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ค้นพบสาระสำคัญหรือองค์การความรู้ใหม่ด้วยตนเอง อันเกิดจากการได้ศึกษาค้นคว้าทดลอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทำให้ผู้เรียนรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Man) ที่พึงประสงค์
3. Resource เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งบุคคลและเครื่องมือทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ผู้เรียนได้สัมผัสและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นมนุษย์ (เช่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่างๆ) ธรรมชาติและเทคโนโลยี ตามหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์)
4. Thinking เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการคิด ผู้เรียนได้ฝึกวิธีคิดในหลายลักษณะ เช่น คิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดถูก ทางคิดกว้าง คิดลึกซึ้ง คิดไกล คิดอย่างมีเหตุผล เป็นต้น การฝึกให้ผู้เรียนได้คิดอยู่เสมอในลักษณะต่างๆ จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น คิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล มีวิจารณญาณ ในการคิด มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่จะเลือกรับและปฏิเสธข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถแสดงความคิดเห็นออกได้อย่างชัดเจนและมี เหตุผลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
5. Happiness เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจาก 
      1) ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนชอบหรือสนใจ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใฝ่รู้ ท้าทาย อยากค้นคว้า อยากแสดงความสามารถและให้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ 
      2) การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียน
6. Participation เป็นกิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวางแผนกำหนดงาน วางเป้าหมายร่วมกัน และมีโอกาสเลือกทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ตรงกับความถนัดความสามารถ ความสนใจ ของตนเอง ทำให้ผู้เรียนเรียนด้วยความกระตือรือร้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนและสามารถ ประยุกต์ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง
7. Individualization เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในความเป็นเอกัตบุคคล ผู้สอนต้องยอมรับในความสามารถ ความคิดเห็น ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพมากกว่าเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างกันโดยมีความเชื่อมั่นผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ และมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
8. Good Habit เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความรับผิดชอบ ความเมตตา กรุณา ความมีน้ำใจ ความขยัน ความมีระเบียบวินัย ความเสียสละ ฯลฯ และ ลักษณะนิสัยในการทำงานอย่างเป็นกระบวนการการทำงานร่วมกับผู้อื่น การยอมรับผู้อื่น และ การเห็นคุณค่าของงาน เป็นต้น
9. Self Evaluation เป็นกิจกรรมที่เน้นการประเมินตนเอง เดิมผู้สอนเป็นผู้ประเมินฝ่ายเดียว แต่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองได้ชัดเจนขึ้น รุ้จุดเด่นจุดด้อยและพร้อมที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การประเมินในส่วนนี้เป็นการประเมินตามสภาพจริงและอาจใช้แฟ้มสะสมผลงานช่วย

http://www.sut.ac.th/tedu/news/Mean.html ได้กล่าวถึงความหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและเทคนิคในการจักกิจกรรมการเรียนการสอนไว้ดังนี้
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึง การจัดกิจกรรมโดยวิธีต่างๆ อย่างหลากหลายที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการ เรียนรู้อย่างแท้จริงเกิดการพัฒนาตนและสั่งสมคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมของประเทศชาติต่อไป การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนาผู้เรียน จึงต้องใช้เทคนิควิธีการเรียนรู้รูปแบบการสอนหรือกระบวนการเรียนการสอนใน หลากหลายวิธีซึ่งจำแนกได้ดังนี้ (คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้,2543 : 36-37)
1.  การจัดการเรียนการสอนทางอ้อม ได้แก่ การเรียนรู้แบบสืบค้น แบบค้นพบ แบบแก้ปัญหา แบบสร้างแผนผังความคิดแบบใช้กรณีศึกษา แบบตั้งคำถามแบบใช้การตัดสินใจ
2.  เทคนิคการศึกษาเป็นรายบุคคล ได้แก่ วิธีการเรียนแบบศูนย์การเรียน แบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง แบบชุดกิจกรรมดารเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
3.  เทคนิคการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ ประกอบการเรียน เช่น การใช้สิ่งพิมพ์ ตำราเรียน    และแบบฝึกหัดการใช้แหล่งทรัพยากรในชุมชน ศูนย์การเรียนชุดการสอน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนสำเร็จรูป
4.  เทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นปฏิสัมพันธ์ ประกอบด้วย การโต้วาทีกลุ่ม Buzz การอภิปราย การระดมพลังสมอง กลุ่มแกปัญหา กลุ่มติวการประชุมต่าง ๆ การแสดงบทบาทสมมติ กลุ่มสืบค้นคู่คิดการฝึกปฏิบัติ เป็นต้น
5.  เทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นประสบการณ์ เช่น การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เกม กรณีตัวอย่างสถานการณ์จำลองละคร เกม กรณีตัวอย่างสถานการณ์จำลอง ละคร บทบาท สมมติ
6. เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ ได้แก่ ปริศนาความคิดร่วมมือแข่งขันหรือกลุ่มสืบค้น กลุ่มเรียนรู้ร่วมกันรวมกันคิด กลุ่มร่วมมือ
7. เทคนิคการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ได้แก่ การเรียนการสอนแบบใช้เว้นเล่าเรื่อง (Story line) และการเรียนการสอนแบบ แก้ปัญหา (Problem-Solving)


สรุป
 การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  คือ การจัดบรรยากาศ จัดกิจกรรม จัดสื่อ จัดสถานการณ์ ฯลฯ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ  รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการ คิดริเริ่ม แสวงหา วิเคราะห์ จัดการความรู้ และลงมีปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองตามความต้องการและความสนใจ  และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
ลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1.  Active Learning เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองด้วยความกระตือรือร้น
2. Construct เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ค้นพบสาระสำคัญหรือองค์การความรู้ใหม่ด้วยตนเอง
3. Resource เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งบุคคลและเครื่องมือทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
4. Thinking เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการคิด ผู้เรียนได้ฝึกวิธีคิดในหลาย
5. Happiness เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข
6. Participation เป็นกิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม
7. Individualization เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในความเป็นเอกัตบุคคล
8.  Good Habit เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม
9. Self Evaluation เป็นกิจกรรมที่เน้นการประเมินตนเอง

ที่มา
http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1_2.htmการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อเมื่อ 16 กันยายน 2558
http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน 2558.
http://www.sut.ac.th/tedu/news/Mean.html. การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อเมื่อ 17 กันยายน 2558.


การเรียนรู้แบบเรียนรวม

การเรียนรู้แบบเรียนรวม


            https://docs.google.com/presentation/d/1k9Vs6hE8BXzc3ARmOPvg329JPGcqUHbSKE87o-m7604/embed?slide=id.i0#slide=id.i56 ได้รวบรวบและกล่าวว่า การจัดการเรียนรวม สำหรับเด็กพิเศษที่เข้าเรียนรวมกับเพื่อนๆปกติแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปจะส่งผลให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน เด็กจะเข้าใจความเหมือนและการไม่เหมือนในการอยู่ร่วมกัน เด็กปกติเรียนรู้ที่จะยอมรับความพิการของเพื่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา การยอมรับความพิการ การไร้ความสามารถ จึงเป็นเร่องจำเป็น นอกจากนี้เด็กที่เรียนรวมนั้นจะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือและความรู้สึกรับผิดชอบที่จะพัฒนาไปด้วยกันในชั้นเรียน การมีปฏิสัมพันธ์เช่นนี้จะส่งผลให้มีการยอมรับซึ่งกันและกัน รู้สึกและตระหนักถึงความพิการได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญเมื่อเด็กเหล่านี้ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามเด็กที่เรียนในระบบ “Inclusion” ยังคงต้องได้รับการบริการศึกษาพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นครูพิเศษ สื่อสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการทางการศึกษาพิเศษต่อเนื่องกันไป การเรียนในระบบนี้มิได้หมายความว่าจะลดบริการพิเศษต่างๆลงหากเพียงแต่มีการเปลี่ยนวิธีการจัดการและการให้บริการ
        ทฤษฎีพื้นฐานของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
          1. การจัดการเรียนรวมให้กับเด็กพิการหรือมีความบกพร่องนั้นจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการจัดให้นักเรียนได้เรียนในสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด (The Least Restrictive Environment : LRE )
          2. การจัดการเรียนรวมต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาอาชีพ (Transdisciplinary Team) และพ่อแม่หรือผู้ปกครองในลักษณะการรวมพลัง (Collaboration)
          3. การจัดให้นักเรียนพิการที่มีความแตกต่างเฉพาะบุคคลเข้าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปนั้นต้องอาศัยแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP)


อธิวัฒน์ พรหมจันทร์ (https://www.gotoknow.org/posts/545771)ได้กล่าวว่าการศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล  
          แนวคิดและปรัชญาของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม 
           การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จะต้องร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ปกครองและชุมชน โดยปลูกฝังด้านจิตสำนึกและเจตคติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กทุกคนโดยคำนึงถึงศักยภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือความบกพร่องเฉพาะบุคคล ซึ่งจะให้สิทธิเท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดเป็นพิเศษเฉพาะ
          ปรัชญาของการศึกษาแบบเรียนรวม
            เกิดจากปรัชญาการศึกษาที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ดังนั้นความต้องการของเด็ก ๆ ทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันแม้อยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน โรงเรียนและครูจึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรวมกันและได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล
          ทฤษฎีของการศึกษาแบบเรียนรวม
            การดำเนินการศึกษาแบบเรียนรวม มีหลักการดังนี้ทำสัญญาร่วมกันในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศไว้เมื่อปี คริสตศักราช 1995 ให้ทุกประเทศจัดการศึกษาแบบเรียนรวมดำเนินการตามหลักการแบ่งสัดส่วนตามธรรมชาติ ซึ่งในสังคมหรือชุมชนหนึ่ง ๆ จะมีเด็กพิการหรือเด็กพิเศษปะปนอยู่ เด็กทั้งหมดควรอยู่ร่วมกันตามปกติ โดยไม่มีการนำเด็กพิเศษออกจากชุมชนมารวมกันเพื่อรับการศึกษาที่เป็นการขัดแย้งกับธรรมชาตินำบุคลากรทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ของเด็กปกติและเด็กพิเศษ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหาร ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และบุคลากรในชุมชนอื่นๆ พัฒนาเครือข่ายผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งครูทุกคนในโรงเรียนจะต้องช่วยกันทำงานไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ถ้าหากมีเด็กพิเศษในโรงเรียน รวมทั้งการพบพูดคุยและปรึกษากับผู้ปกครอง จัดให้ผู้ปกครองเด็กพิเศษด้วยกันและผู้ปกครองเด็กปกติพบกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ แก่กันจัดให้มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารและบุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งในโรงเรียนและในชุมชน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณทั้งภาครัฐและเอกชนในกิจกรรมร่วมระหว่างเด็กพิเศษกับเด็กปกติจัดการปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและครอบคลุมถึงเด็กพิเศษทุกคนในกลุ่มเด็กปกติจัดให้มีความยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กพิเศษและเด็กปกติทุกคน
          หลักการการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
            แผนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ลักษณะความแตกต่างกันระหว่างบุคคลมีผลต่อระดับความสำเร็จในการเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเดิมเพื่อไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกฝน ซึ่งการเรียนรู้ของคนเราอาศัยประสาทสัมผัส ได้แก่ หู ตา จมูกลิ้น กาย ใจ เป็นองค์ประกอบหลักของการเรียนรู้และการรับรู้ หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งสูญเสีย หรือบกพร่องไปย่อมมีผลต่อการเรียนรู้ และการรับรู้ตามไปด้วย ทำให้การเรียนรู้ของเด็กต้องล้มเหลว เรียนไม่ได้ดีเท่าที่ควรหรือเกิดข้อขัดข้องเสียก่อน ซึ่งอาจจัดเป็นองค์ประกอบใหญ่ ๆ ได้ 3 ประการ
          1. องค์ประกอบด้านสรีรวิทยา ได้แก่ สาเหตุที่สืบเนื่องมาจากการทำงานผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกาย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางร่างกายของเด็กเอง
          2. องค์ประกอบด้านจิตวิทยา ได้แก่ สติปัญญา อัตราเร็วของการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง การปรับตัวทางอารมณ์และสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและเพื่อน
          3. องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม ตลอดจนประสบการณ์ต่าง ๆ เด็กที่มีความต้องการพิเศษย่อมได้รับผลกระทบต่อการเรียนรู้ในด้าน ต่าง ๆ และหากเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านต่าง ๆ ซ้อนจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้มากขึ้นไปอีก ซึ่งแยกพิจารณาถึงผลกระทบของความบกพร่องที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการแต่ละประเภท ดังนี้
         1. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา                
         2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
         3. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น                     
         4. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
         5. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา       
         6. เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์
         7. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้                            
         8. การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ


ณิชาภัทร ศรีนฤวรรณ (https://www.gotoknow.org/posts/197570) ได้กล่าวว่า ประโยชน์ของการนำเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าระบบการศึกษาร่วมกับเด็กปกติ 
          เด็กที่มีความต้องการพิเศษ จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่าการนำเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนรวมกับเด็กปกติพบว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้รับการยอมรับจากเพื่อนและบุคคลรอบข้างมากขึ้นมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ภาษา และสติปัญญา เพิ่มขึ้น ได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ของตนเองตามศักยภาพ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลง
          เด็กปกติ พบว่าเด็กปกติได้เรียนรู้จากชีวิตจริงว่ามีคนที่มีความแตกต่างจากตนเองและเข้าใจสภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล เข้าใจธรรมชาติของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น และเด็กปกติได้เรียนรู้การมีความเมตตา กรุณา ความมีน้ำใจ การให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ด้อยกว่าตนเอง
          ผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ พบว่าผู้ปกครองมีความเครียด ความวิตกกังวล ความอาย ลดลง และรู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวมีคนรอบข้างพร้อมที่จะยื่นมือมาช่วยเหลือเพียงแต่ผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษกล้าที่จะเปิดเผยเด็กต่อชุมชน และให้โอกาสเด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆเหมือนเด็กคนอื่นๆ
          ผู้ปกครองเด็กปกติ พบว่าผู้ปกครองเด็กปกติได้เรียนรู้การเป็นผู้ให้และผู้รับ มีความเข้าใจลูกของตนเองมากขึ้นจากการได้เรียนรู้และสัมผัสกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้เรียนรู้การช่วยเหลือ การแบ่งปัน และมีทัศนคติที่ดีต่อเด็กหรือผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
          ชุมชนหรือสังคม พบว่า ประหยัดเงินงบประมาณ บุคลากร และทำให้ไม่เกิดการแบ่งแยกในสังคม เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข



สรุป
          การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก และวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล  โดยแนวคิดและปรัชญาของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จะต้องร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยปลูกฝังด้านจิตสำนึกและเจตคติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กทุกคนโดยคำนึงถึงศักยภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดเป็นพิเศษเฉพาะ หลักการการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมโดยมีแผนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมตามการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ลักษณะความแตกต่างกันระหว่างบุคคล จัดเป็นองค์ประกอบใหญ่ได้ 3 ประการ

1. องค์ประกอบด้านด้านสรีรวิทยา 
2. องค์ประกอบด้านจิตวิทยา
3. องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้เด็กที่เรียนรวมนั้นจะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือและความรู้สึกรับผิดชอบที่จะพัฒนาไปด้วยกันในชั้นเรียน การมีปฏิสัมพันธ์เช่นนี้จะส่งผลให้มีการยอมรับซึ่งกันและกัน และในการจัดการเรียนรวมนั้นมีประโยชน์มากมาย


ที่มา

https://docs.google.com/presentation/d/1k9Vs6hE8BXzc3ARmOPvg329JPGcqUHbSKE87o-m7604/embed?slide=id.i0#slide=id.i56 . ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนรวม. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558.

อธิวัฒน์ พรหมจันทร์. [online] https://www.gotoknow.org/posts/545771. การบูรณาการ
        เรียนรู้แบบเรียนรวม. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558.

ณิชาภัทร ศรีนฤวรรณ. [online] https://www.gotoknow.org/posts/197570. ประโยชน์
        ของการเรียนรวม. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2558.